กว่าจะเป็นเล่มหนังสือ




BOOK IS BOOK MEANS...




                คำว่า 'หนังสือ' สามารถแปลได้หลายความหมาย   ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายขีดเขียนแทนเสียงหรือคำพูดและลายลักษณ์อักษร และอาจหมายความว่ากระดาษที่เย็บรวมกัน มีปกหุ้ม                           อีกความหมายนึงก็จะหมายถึงจดหมายที่มีไปมา เช่น หนังสือราชการ เอกสาร บทประพันธ์ ข้อความที่พิมพ์หรือเขียนแล้วรวมเป็นเล่ม 


                แล้วหนังสือเริ่มต้นมาจากไหนล่ะ!?  ตามประวัติศาสตร์แล้วการทำสมุดหรือหนังสือเป็นเล่มนั้นมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ซึ่งจีนเป็นประเทศแรกที่มีการริเริ่มคิดค้นการเย็บสมุดเป็นเล่มครั้งแรกในปี ค.ศ. 1116 ชาวจีนได้มีการเย็บเล่มสมุดด้วยเชือกตรงด้านข้างหนึ่งให้ติดกันและเปิดอ่านอีกด้านหนึ่ง ซึ่งจะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับรูปเล่มหนังสือหรือสมุดในปัจจุบันมากที่สุด 

               ....แต่ ก่อนที่สมุดหรือหนังสือจะมีการเย็บเป็นเล่มนั้น ก็ได้มีรูปแบบของหนังสือหน้าตาหลายแบบมากมายในยุคสมัยก่อนที่เขาได้ใช้กันจริงๆ อย่างเช่น หนังสือม้วน หนังสือพับ และหนังสือแผ่น  อย่างในประเทศไทยเราในสมัยก่อนเขาได้มีการทำหนังสือหรือสมุดที่เรีกยว่า สมุดข่อย ซึ่งจะมีลักษณะที่พับไปพับมาทบๆ กันหลายๆ ชั้นจนสุดแผ่นกระดาษ 


หนังสือม้วน

หนังสือพับ

ถึงแม้ว่าการทำสมุดจะมีดูเหมือนยาก
และมีวิธีขั้นตอนมากมายที่ซับซ้อน

แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่หลงรักและหลงใหลในศิลปะแห่งการทำสมุด
ดังเช่น

        พี่ต้าร์  กีตารัตน์ มโนสมุทร  ที่ปัจจุบันเปิดสอนงานแฮนด์เมดอยู่ที่ Yephandicraft 
                   เธอเป็นคนที่ชื่นชอบการทำงานฝีมือมาตั้งแต่เด็ก โดยพี่ต้าร์ได้บอกกับเราว่า "มีความสนใจงานด้านแฮนด์เมดมาก็ประมาณสิบปีที่แล้ว จริงๆ ก็ตั้งแต่เด็กๆเลย ก็คือจะชอบของน่ารักๆอยู่แล้วอ่ะค่ะ แต่ว่ายังไม่เคยได้ทำจริงจัง" แล้วพี่ต้าร์ยังได้บอกอีกว่า "จริงๆมันมาจากการที่เราอยากทำงานที่นึงที่เกี่ยวกับงานแฮนด์เมด ทีนี้ก็เลยได้มีโอกาสไปเรียนข้างนอก เรียนแบบลองดูว่าชอบมั้ย สรุปว่าชอบ เพราะระหว่างที่ทำมันมีสมาธิ งานเสร็จออกมาก็น่ารัก และมันใช้งานได้จริงๆ และทางเรายังได้ถามต่ออีกว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจทำให้อยากจะสอนคนทำงานฝีมือแบบนี้  "เราอยากให้งานฝีมือมันเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย  และนี่คือคำตอบของพี่ต้าร์


 Yebhandicraft's workshop school



         มาถึง วิธีการทำเย็บสมุดที่หลายคนอาจสงสัยว่า เอ๊ะ...  มันต้องทำยังไง มีการเย็บแบบไหน ใช้อุปกรณ์อะไรในการทำบ้าง แล้วเราต้องไปหาซื้อวัสดุเหล่านั้นจากแหล่งไหน ทางเราก็ได้สอบถามเรื่องนี้จาก พี่ต้าร์ ครูสอนงานแฮนด์เมดสุดน่ารักของเรามาเช่นกัน 

"หลักๆ การเย็บสมุดก็จะแบ่งเป็นสองแบบ คือเข็มเดี่ยวกับเข็มคู่นะคะ 
เข็มเดี่ยวก็คือจะใช้เย็บแบบลายเปีย คือมันจะเป็นแบบด้ายยาวๆ เย็บแค่เข็มเดียวจบ
กับเข็มคู่เนี่ย พี่จะชอบมาก เพราะงานพี่ส่วนมากจะเป็นเข็มคู่ 
ส่วนลายเย็บจริงๆ ในโลกนี้นี่มันดัดแปลงได้เป็นร้อยลายเลยค่ะ
หลักๆ ก็คือเป็นกระดาษพับครึ่ง ซ้อนกัน กี่ชั้นๆ ก็ว่าไป 
แล้วก็เย็บ แล้วก็ถักลายข้างนอก เป็นการถักโชว์สันด้านข้าง 
ก็จะเป็นศิลปะอีกแบบหนึ่ง "

ส่วน

"อุปกรณ์ที่ใช้ หลักๆ ก็กระดาษ แน่นอนก็ต้องกระดาษ แล้วก็เข็ม เชือก คร่าวๆก็ประมาณนี้ แหล่งหาซื้อ จริงๆ ที่พี่ก็จะมีขายที่สตูอยู่แล้ว แต่เป็นอุปกรณ์เบื้องต้นแล้วก็อุปกรณ์ตกแต่ง
ถ้าอยากซื้อเองตามแหล่งเลยก็ที่ สำเพ็ง อ่ะค่ะ"


Let's do it!
หลังจากที่ได้รู้เรื่องราวคร่าวๆ ของวิธีการทำและอุปกรณ์บางส่วนมาจากพี่ต้าร์แล้ว 
หลายคนอาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่าเป็นอย่างไร 
งั้นเรามาดูวิธีการเย็บสมุดแบบเข็มคู่ที่พี่ต้าร์ชื่นชอบ พร้อมกับอุปกรณ์ที่ต้องใช้กันดีกว่าค่ะ

เครื่องมือและอุปกรณ์เย็บสมุดเบื้องต้น

                                                                 
                        1.กาว     
                                                                                  



                        2.ขี้ผึ้งรูดด้าย          

          


                        3.แผ่นรองตัด




                        4.ด้ายหลากสี 






   1.กงฉาก

   2.มีดชนิด clip point

   3.คลิปหนีบ

   4.มีดผ่าตัด

   5.เหล็กเจาะ

   6.กรรไกร

   7.แปรงทากาว

   8.วงเวียน 10 cm/4in

   9.ไม้รีดกระดาษ

   10.ดินสอและยางลบ

   11.เข็ม 

   12.ไม้บรรทัดเหล็ก

   13.สามเหลี่ยมวัดองศา


การเย็บสมุดแบบเข็มคู่

#1 เตรียมวัสดุและอุปกรณ์

     - กระดาษจั่วปัง ขนาด 10.7 * 15.2 ซม. 2 แผ่น
     - กระดาษห่อปก ขนาด 13.7 * 18.2 ซม. 2 แผ่น
     - กระดาษรองปก ขนาด 10.3 * 14.8 ซม. 2 แผ่น
     - กระดาษเนื้อใน ขนาด 14.8 * 21 ซม. 33 แผ่น พับครึ่งแล้วซ้อนกันเป็นยก ยกละ 5 แผ่น ทั้งหมด 8 ยก เก็บไว้ 1 แผ่นสำหรับเป็นกระดาษแม่แบบ (สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนยกได้ตามความต้องการ)
     - ด้ายเย็บยาว 10 เท่าของความสูงสมุด ใช้ 2 เส้น 
     - เข็ม 4 เล่ม
     - อุปกรณ์ทำงาน ได้แก่ ดินสอ ไม้บรรทัด คัตเตอร์ กาว กรรไกร ของตกแต่ง

#2 วิธีการเย็บ

1 เริ่มเย็บ เปิดหน้ากลางของกระดาษเนื้อในยกที่ 1 ออก แล้วแทงเข็มทั้งสี่เล่มจากทางด้านใน
พับทะลุออกไปที่สัน รูละ 1 เล่ม (เวลาทำให้ทำเป็นคู่ คู่ที่ 1 คือเสา 1 และ 2 คู่ที่ 2 คือเสา 3 และ 4)
เมื่อดึงเข็มออกมาทั้งสี่รูแล้วจัดด้ายแต่ละคู่ให้เสมอกัน 

2 คว่ำด้านหน้าของปกหน้าบนพื้นโต๊ะ วางเนื้อในจากข้อ  ทับบนปกให้รูที่เจาะไว้ตรงกัน
เราจะเชื่อมปกหน้ากับเนื้อในยกที่ 1 เข้าด้วยกัน โดยแทงเข็มผ่านปกหน้าจากล่างขึ้นบนตามรูป
ทำจนครบ 4 เข็ม 


3 จัดกระดาษเนื้อในและปกให้เสมอกันแล้วดึงด้ายทั้งสี่เส้นให้ตึง ตอนนี้กระดาษเนื้อในยกแรกกับปกหน้าได้เชื่อมกันแล้ว
ต่อไปก็ต้องยึดให้ทั้งคู่ติดกัน โดยยกกระดาษเนื้อในยกที่ 1 ขึ้นเล็กน้อย สอดเข็มที่ 1 เข้าทางด้านขวาของเสาที่ 1
แล้วแทงออกไปทางซ้ายของเสา เข็มที่ 2 แทงเข้าทางซ้ายแล้วแทงออกทางขวา เข็มที่ 3 แทงเหมือนเข็มที่ 1
เข็มที่ 4 แทงเหมือนเข็มที่ 2 ค่อยๆ ดึงด้ายทั้งหมดให้ตึง จะเกิดปมตรงเสาและรูที่ชั้นกระดาษ ระวังอย่าดึงด้ายแรงมาก
และอย่าบิดหรือโยกเส้นด้ายเพราะกระดาษจะขาด


4 วางกระดาษเนื้อในยกที่ 2 ทับบนกระดาษเนื้อในยกแรก
แทงเข็มเข้าไปในรูเจาะที่สันพับทีละรูจนครบทั้งสี่รู


5 เปิดด้านในพับของยกที่ 2 ดึงด้ายให้ตึงทั้งสี่เส้นแล้วแทงเข็มสลับกัน
ใช้เข็มจากรูที่ 2 แทงเข้ารูที่ 1 ให้ทะลุออกไปที่สันนอกของเนื้อในยกที่ 2
แล้วแทงเข็มจากรูที่ 1 ลงในรูที่ 2 เข็มจากรูที่ 3 และ 4 ทำสลับกันเหมือนรูที่ 1 กับ 2
แล้วดึงด้ายที่ออกมาให้ตึง


6 นับช่องว่างของยกกระดาษจากชั้นบนสุดลงมา 2 ชั้น คือนับ 1 ตรงช่องว่างระหว่างยกที่ 2 กับยกที่ 1
นับ 2 ตรงช่องว่างของยกที่ 1 และปกหน้า สอดเข็มที่ด้านขวาของเสา 1 แล้วอ้อมออกทางซ้ายของเสา ดึงด้ายให้ตึง


7 เสาที่ 2 นับลงมา 2 ช่องว่างเหมือนข้อ 6 แล้วสอดเข็มจากด้านซ้ายของเสาที่ 2 อ้อมหลังเสามาออกทางขวา
ดึงด้ายให้ตึง ส่วนเสาที่ 3 ทำเหมือนเสาที่ 1 เสาที่ 4 ทำเหมือนเสาที่ 2 แล้วดึงด้ายให้ตึง


8 เสร็จจากเนื้อในยกที่ 2 แล้ว วางกระดาษเนื้อในยกที่ 3 แล้วแทงเข็มเข้าไปในรูเจาะที่สันพับทีละรูจนครบ
เปิดด้านในพับของยกที่ 3 ดึงด้ายทั้งสี่เส้นให้ตึงแล้วทำเหมือนข้อที่ 5-7 ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงกระดาษยกสุดท้าย


9 วางปกหลังบนเนื้อในยกสุดท้ายให้ด้านหน้าของปกหลังหงายขึ้น แทงเข็มจากทางด้านหน้าของปกหลังเข้าไปในรูแต่ละรู
เสา 1 แทงเข็มออกไปทางขวา เสา 2 แทงเข็มออกไปทางซ้าย เสา 3 แทงเข็มออกไปทางขวา เสา 4 แทงเข็มออกไปทางซ้าย
จัดปกหลังและตัวสมุดให้เสมอกัน ดึงด้ายทุกเส้นให้ตึง เป็นการเชื่อมเนื้อในกับปกหลังสำเร็จ


10 เมื่อเชื่อมเนื้อในกับปกหนังเสร็จแล้ว ต่อไปจะยึดปกหลังกับตัวสมุด
เริ่มด้วยเสาที่ 1 แทงเข็มเข้าทางซ้ายแล้วอ้อมหลังเสามาออกทางขวา


11 เสาที่ 2 แทงเข็มเข้าทางด้านขวาของเสา อ้อมหลังเสามาออกทางซ้าย
เสาที่ 3 เหมือนเสาที่ 1 เสาที่ 4 เหมือนเสาที่ 2 ดึงด้ายให้ตึง จะเกิดปมขึ้นระหว่างปกหลังกับชั้นกระดาษ


12 เมื่อยึดปกหลังกับตัวสมุดเสร็จแล้วก็มาปิดช่องโหว่ระหว่างสองชั้นสุดท้าย
โดยนับจากปกหลังลงมา 3 ช่องว่าง แทงเข็มจากทางขวาของเสาที่ 1 อ้อมหลังเสามาออกทางซ้าย


13 เสาที่ 2 นับลงไป 3 ช่องว่างเช่นกัน แล้วแทงเข็มจากทางซ้ายไปออกทางขวา ดึงด้ายให้ตึง
เสาที่ 3 เหมือนเสาที่ 1 เสาที่ 4 เหมือนเสาที่ 2


14 ขั้นตอนเกือบสุดท้ายนี้ลำบอกนิดหน่อยเพราะต้องแทงเข็มกลับเข้าไปในรูของกระดาษเนื้อในยกสุดท้ายทุกรู
เพื่อความสะดวกให้เปิดกระดาษเนื้อในยกสุดท้ายขึ้นเล็กน้อย แทงเข็มกลับเข้าไปในรูเดิมให้ชิดข้างๆเปีย
อย่าแทงตรงกลางเปียหรือโซ่เพราะจะทำให้เปียเบี้ยว ไม่สวย ค่อยๆทำทีละรูจนครบทั้งสี่รู


15 เมื่อเสร็จจากข้อ 14 แล้ว เปิดเนื้อในยกสุดท้ายออก มัดปมที่เสาเเต่ละเสาโดยสอดเข็มใต้เส้นด้าย
ดึงด้ายอ้อมกลับช้าๆ จนเกือบสุดจะเกิดบ่วง เอาเข็มลอดบ่วงนั้นแล้วดึงให้ตึงจะเกิดปมปิดที่รูพอดี


16 เมื่อมัดปมทั้งหมดเสร็จ ตัดด้ายทั้งสี่เส้นออกโดยเหลือปลายด้ายไว้ประมาณ 2 ซม.
ปล่อยชายด้ายไว้ และเเต้มกาวเล็กน้อยที่กลางปมด้ายทุกปมเพื่อป้องกันไม่ให้ด้ายคลายตัว
.
.
.
.

    และแล้วก็  แถ่น แท๊น...

สวยใช่ม๊าา 💜

          เเม้ว่าวันนี้เราจะไม่ได้นำวิธีการสอนเย็บสมุดทุกรูปแบบมา แต่ก็มี Tips ความรู้เล็กๆน้อยๆมาฝากเกี่ยวกับคำศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกส่วนต่างๆของหนังสือและชื่อรูปแบบการเย็บแบบอื่นๆ นอกเหนือจากแบบเข็มเดี่ยวและเข็มคู่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่อยากนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลายค่ะ



         Back  มีความหมายเดียวกับ Spine หมายถึง สันหนังสือ สันหนังสือคือบริเวณที่หน้าหนังสือมาผนึกติดกันจะด้วยวิธีพับ เย็บ หรือทากาวก็ได้
         Binding  การทำเล่มหนังสือด้วยวิธีเย็บ พับหรือทากาว บริเวณหนึ่งของหน้าหนังสือแต่ละหน้า ให้มารวมผนึกด้วยกัน เรียกว่า สันหนังสือ
         Bookmark  แถบโบหรือผ้า หรือหนัง หรืออื่นๆ ที่ใช้สอดคั่นระหว่างหน้าหนังสือ ปลายด้านหนึ่งของแถบคั่นนี้ยึดติดอยู่ภายในของสันหนังสือด้านบน
         Creasing/Groove  คือร่องระหว่างสันกับแผ่นปก ซึ่งเกิดขึ้นเสมอ เมืื่อหนังสือนั้นเข้าเล่มด้วยเครื่องจักรหรือเข้าเล่มด้วยมือ แล้วใช้ไม้เนียนพับกระดาษและกระดาษแข็ง เพื่อให้ได้แนวสวย กระดาษไม่ฉีกขาด
         Flaps  ปีกปก ใบหุ้มปกแข็ง ตามธรรมดาจะพับชายทั้งสองด้านเข้าไปเก็บไว้ใต้ปก ส่วนที่พับอยู่ใต้ปกนี้แหละคือปีกปก
         Flyleaves  ปลิวปก คือกระดาษแผ่นเริ่มต้นและแผ่นหลังสุดของหนังสือแต่ละเล่ม แผ่นกระดาษปลิวจะพับครึ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งจะทากาวด้านหนึ่งแล้วปะยึดติดไว้กับปก อีกส่วนหนึ่ง (สองหน้า) จะปิดทับหน้าตัวหนังสือไว้ แผ่นปลิวที่อยู่ด้านหน้า เรียกว่า ปลิกปกหน้า แผ่นปลิวที่อยู่ท้ายสุดของเล่มเรียก ปลิกปกหลัง
        Head  ด้านบนของหนังสือ
        Headband  ขอบสันหนังสือ จะเป็นด้าย ไหม หรือด้ายสี ที่นำมาคาดทับส่วนบนสุดและปลายสุดของสันหนังสือก่อนเข้าปกแข็ง
        Signature/Section  หน้าหนังสือ เกิดจากการพับครึ่งแผ่นกระดาษสองหรือสามครั้ง และสอดเก็บรวมไว้เป็นปีก บางทีก็เรียก Body
        Title page  หน้าชื่อเรื่อง เป็นหน้าแรกเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้นๆ

รูปแบบการเย็บเล่มสมุดอื่นๆ 


        การเย็บสมุดถือเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์เรามาอย่างยาวนานมาหลายร้อยปี ซึ่งมีการเรียนรู้คิดค้นรูปแบบการเย็บใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อสร้างความสวยงาม แปลกใหม่ และร่วมสมัยมากขึ้นในแต่ละยุค ส่วนการทำสมุดรูปแบบที่นำเสนอไปนี้สามารถนำไปประยุกต์ในการประดิษฐ์เป็นของขวัญอันล้ำค่ามอบให้กับคนสำคัญได้เช่นกัน
        ดังเช่นคำพูดของนักเรียน workshop ของพี่ต้าร์ "คิดว่าจะมอบให้กับคนในครอบครัว เพราะกว่าจะได้มา มันต้องเลือกทุกอย่างมาทำแต่ละขั้นตอน ทำให้รู้สึกว่ามันมีคุณค่าค่ะ" พี่มะปรางบอก 
        ส่วนพี่เฟิร์นบอกว่า "ถ้าทำให้ก็จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ ไม่ก็แฟนไรงี้ค่ะ แล้วถ้าเขาได้ของที่เราทำให้ เขาก็เหมือนจะ appreciate กับสิ่งที่เราทำ เขามีความสุข แล้วก็จะเก็บไว้อย่างดีไรอย่างนี้ค่ะ" 

fun💗 happy💗 valuable💗

=================================================

          กีตารัตน์ มโนสมุทร. ครูสอนเย็บสมุดและเจ้าของเพจ Yephandicraft. เขตคลองเตย  จังหวัด                                   กรุงเทพมหานคร.  สัมภาษณ์. 2 เมษายน 2562.

          ก่องแก้ว วีระประจักษ์. การทำสมุดไทยและการเตรียมใบลาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :
                         ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล สหประชาพาณิชย์, 2530.

          ฐนันธวริน นัทธวรานันทน์. วิธีเย็บสมุดและหนังสือแบบง่ายๆ BOOKBINDING. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ :
                          ในเครือบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2558

          บ้านจอมยุทธ. ประวัติการทำหนังสือ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก 
                          : http : /  / www.baanjomyut.com.  [วันที่ค้นข้อมูล : 28 มกราคม 2562].

          สุวิริยา สิริสิงห. หนังสือทำมือ. พิมพ์ครั้งที่ . กรุงเทพฯ :
                           สุวีริยาสาส์น, ม.ป.ป.



-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

แนวคิดในการเลือกหัวข้อ : โดยส่วนตัวแล้วชอบอะไรที่มันเป็นงานแฮนด์เมดอยู่แล้ว เพราะชอบงานที่ทำด้วยมือมากกว่า มันรู้สึกถึงความมีเอกลักษณ์ของงาน ไม่ซ้ำใครและไม่มีใครเหมือน รู้สึกภาคภูมิใจถ้าเราได้ทำมันออกมาได้อย่างดีเยี่ยม และที่เลือกการเย็บสมุด ก็เพราะว่าเป็นคนชอบสะสมสมุดจดลายน่ารักๆ ไว้ ถ้าเกิดว่าทำเองได้ก็จะดีมาก อีกทั้งบทความที่สอนเรื่องการเย็บสมุดแบบนี้ก็ค่อนข้างมีน้อยเลยอยากจะสร้างขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการแชร์วิธีการทำให้กับผู้อื่นที่สนใจเรื่องแบบนี้แต่ไม่รู้จะหาอ่านจากที่ไหน

วัตถุประสงค์ของงาน : เพื่อเผยแพร่ความชอบและต้องการให้ผู้คนหันมาสนใจงานแฮนด์เมดมากขึ้น บวกกับเพื่อให้คนที่มีความสนใจอยู่แล้วได้เรียนรู้วิธีการทำที่ถูกต้องและรู้จักสมุดมากขึ้น

วิธีการได้มาซึ่งข้อมูล
        -การเลือกแหล่งสารสนเทศ   ขั้นแรกเลยคือเลือกหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เพราะในอินเตอร์เน็ตจะมีบทความมากมายที่อาจเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังจะทำ หลังจากนั้นก็หาข้อมูลจากหนังสือในห้องสมุดและจากแหล่งอื่น เช่น ไปหาซื้อหนังสือเพิ่มเติมที่มีเนื้อหาที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีการไปหาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราจะทำเพื่อสัมภาษณ์ข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังของเรื่องนั้นเพิ่มเติมที่อาจจะไม่มีอยู่ทั้งในอินเตอร์เน็ตและหนังสือ นอกจากนี้ก็มีไปเข้าคลาสเรียนเพิ่มเติมในเรื่องการทำสมุดอีกด้วย
        -วิธีการรวบรวมสารสนเทศ  หลังจากที่เลือกแหล่งสารสนเทศแล้ว เมื่อเราเจอข้อมูลที่เราจะนำมาใช้และคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อสิ่งที่เราจะทำ ถ้าเลือกจากอินเตอร์เน็ตจากหลายๆเว็บไซต์ ก็ให้อ่านทั้งหมดนั้น และสรุปออกมาในแบบที่เราเข้าใจในภาษาเราเอง ถ้าเลือกจากหนังสือในห้องสมุดก็ให้ถ่ายหน้าที่เราจะเอาข้อมูลมาใช้เก็บไว้หรือถ่ายเอกสารเก็บไว้  แต่ถ้าไปสัมภาษณ์ก็ให้อัดคลิปเสีียงเก็บไว้และถอดความออกมาทั้งหมด บวกกับลองไปเรียนรู้การทำสิ่งนั้นจริงๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจวิธีการทำของสิ่งนั้นๆ พร้อมทั้งถ่ายรูปเก็บภาพบรรยากาศของสิ่งที่จะนำเสนอมาด้วย หลังจากนั้นก็นำข้อมูลแต่ละส่วนที่ได้มา มาเรียบเรียงลำดับขั้นตอนว่าจะใช้ส่วนไหนบ้างในบทความ
        -วิธีการประเมิน และคัดเลือกสารสนเทศมาใช้   เมื่อได้ข้อมูลมาจากหลายแหล่งแล้ว ก็จะมาดูว่าข้อมูลที่ได้มา มีส่วนไหนที่ตรงกับความต้องการที่เราจะนำไปใช้ในการเขียนบทความบ้าง หลักๆ คือเลือกจากการอิงว่า ในบทความเราจะเขียนอะไรลงไป แล้วเราก็ค่อยไปคัดเลือกข้อมูลที่ต้องการจากสารสนเทศที่เรามี ส่วนสิ่งไหนที่ไม่ตรงความต้องการก็ตัดออกไปเลย
        -วิธีการเรียบเรียง ปรับเเต่ง และนำเสนอสารสนเทศ  การเขียนย่อหน้าแรก ก็จะเน้นไปที่การเกริ่นนำก่อนว่าเรากำลังจะพูดถึงอะไรให้คนอ่านที่เข้ามาอ่านบทความเรารับรู้ได้ในสิ่งที่กำลังจะเสนอต่อไปนั้น หลังจากนั้นก็เริ่มหยิบยกเอาข้อมูลที่เราคัดเลือกมา มาใส่ไว้ในแต่ละส่วน โดยมีส่วนเนื้อหาหลักๆเลยก็จะใช้ข้อมูลที่ได้มาเยอะหน่อย อย่างเช่นเราทำเรื่องการเย็บสมุด หนังสือ ก็มีเนื้อหาของวิธีขั้นตอนการทำในแต่ละขั้นตอนเป็น สเต็ปๆไปพร้อมรูปภาพประกอบในแต่ละขั้นตอนนั้นๆเพื่อให้คนอ่านมองเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น และในเนื้อหาก็จะมีการสอดแทรกบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่เกี่ยวข้องลงไปบ้างเพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงความน่าเชื่อถือ น่าสนใจ ในส่วนของสรุปก็จะมีการเพิ่มเติมในเรื่องของข้อควรรู้หรือความรู้เพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่นำเสนอ ก็คือ คำศัพท์เกี่ยวกับสมุดหนังสือนนั่นเอง 
          อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้เนื้อหาเลยก็คือรูปแบบของการจัดองค์ประกอบหน้าตาของบทความ เพื่อให้มันดูน่าอ่านและน่าสนใจ เราก็เลือกใช้สีตัวอักษรสีม่วงอ่อนที่มีความน่ารักเหมาะกับบรรยากาศของงานแฮนด์เมด และบางส่วนของเนื้อหามีการเล่นลูกเล่นของขนาดตัวอักษร และความหนาตัวอักษรให้ดูสะดุดตาต่อผู้อ่านอีกด้วย และก็เลือกใช้พื้นที่ให้เหมาะสม จะเน้นให้มีพื้นที่ว่างน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้มันดูโล่งเกินไป  เช่น ตรงรูปภาพ สามารถจัดชิดซ้าย และใส่ข้อความตัวอักษรอธิบายไว้ข้างๆได้ แบบนี้เป็นต้น

ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินงาน  :  ปัญหาและอุปสรรคที่เด่นชัดเลยคือ เวลา เนื่องจากว่าการทำงานโปรเจคต์ของวิชานี้มันซ้อนทับกับงานของวิชาตัวอืนๆ อีก 6 วิชา ที่สั่งมาพร้อมๆกัน ทำให้มีเวลาในการทำงานน้อยหรือทำแทบไม่ทัน ถึงแม้อาจารย์จะมอบหมายเวลามาให้หลายอาทิตย์และมีวันหยุดให้ด้วย แต่มันก็ไม่เพียงพอต่อการจัดสรรให้พอดีกับวิชาและวิชาอื่นๆ เพราะส่วนตัวนอกจากมีงานของวิชาที่เรียน ก็ยังมีงานของสโมสรที่ต้องทำเช่นกัน งานเลยจะเยอะมากๆ ต้องเเบ่งเวลาไปทำหลายส่วนมากๆ ทำให้ไม่มีเวลามากพอในการจะลงมือเย็บสมุดเอง เพราะมันต้องใช้เวลาไปหาซื้ออุปกรณ์จากหลายๆแหล่งตามความต้องการของเรา  เลยทำให้งานนี้ก็เลือกที่จะใช้ภาพจากหนังสือแทน 
           อุปสรรคอีกอย่างหนึึ่งคือ หัวข้อที่เราเลือกทำ เป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยฮิตเท่าไหร่ ทำให้หาข้อมูลยากมากๆ หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสอนเย็บสมุด ก็จะมีน้อย ส่วนใหญ่ที่ไปหามาก็จะเจอแต่ประวัติของหนังสือเท่านั้น บวกกับเจอแต่การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ในสเกลที่ใหญ่กว่างานฝีมือที่ต้องการจะทำ คือหนังสือจะเน้นไปแบบใช้เครื่องจักรผลิต เลยทำให้ต้องใช้เวลาในการหาแหล่งข้อมูลพอสมควร

          
          

                 









    

Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 4.0 International License.

ความคิดเห็น